วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รู้รอบโรค...โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy)

สาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา การที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดความผิดปรกติของเส้นเลือดที่จอประสาทตา เกิดจอประสาทตาบวม เลือดออกในน้ำวุ้นตา จอประสาทตาหลุดลอก จนทำให้ตาบอดในที่สุด ดังนั้น ยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานนานเท่าไหร่ โอกาสเกิดโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น - ทำไมเป็นเบาหวานแล้วถึงตาบอดได้
เมื่อผู้ป่วยเป็นเบาหวานนาน ๆ หลาย ๆ ปี เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของตาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังของหลอดเลือดในจอประสาทตา ทำให้เกิดมีการผิดปกติ คือ มีเม็ดเลือด มีน้ำเหลือง และไขมัน ซึมออกมาในจอประสาทตา ทำให้เกิดจอประสาทตาบวม ขาดอ๊อกซิเจน และเมื่อเป็นเช่นนี้นาน ๆ เข้า จะทำให้เกิด : เส้นเลือดงอกขึ้นใหม่ --> เกิดเลือดออก --> ทำให้น้ำวุ้นภายในลูกตาขุ่นมัว --> จอประสาทตาลอก --> และท้ายสุดทำให้ตาบอด เราเรียกโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนี้ว่า "เบาหวานขึ้นตา"
- จะรู้ได้อย่างไรว่ามีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานจะทำให้สูญเสียการมองเห็นลงอย่างมาก หรือตาบอด แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวด ในความเป็นจริงผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา จะไม่รู้สึกถึงความผิดปรกติในการมองเห็น จนกระทั่งเป็นรุนแรงมากแล้ว
ถ้าเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และมีจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวม (Diabetic Macula edema) ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกมองภาพไม่ชัด ตามัว หรือใช้สายตาระยะใกล้ เช่น อ่านหนังสือ ได้ลำบาก
ถ้ามีเส้นเลือดงอกผิดปรกติ (Neovascularization) บนจอประสาทตาแตก มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous hemorrhage) อาจมีอาการเหมือนมีเงาดำ ๆ บัง ลอยไปมา จนถึงมืด และมองอะไรไม่เห็นได้
ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรพบจักษุแพทย์ทันที ถ้ามีการมองเห็นผิดปรกติไป เช่น
  • ตามัวลง 1-2 วัน และไม่ดีขึ้น
  • อาการตามัวไม่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น
  • มีเงาดำลอยไปมา (floater)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ แม้มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากแล้ว ก็ยังไม่แสดงการมองเห็นที่ผิดปรกติ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุด ที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย จะต้องได้รับการขยายม่านตา ตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะว่า โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาสามารถรักษา และป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที - ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้ตาบอด
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน สิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามมาคือ เข้ารับการขยายม่านตา ตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่า ตาได้รับผลกระทบอะไรจากโรคเบาหวานหรือยัง และเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง จักษุแพทย์จะทำการนัดตรวจถี่ขึ้นตามระดับความรุนแรงของโรคเบาหวานที่จอประสาทตา ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ตรวจพบว่ามีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว ควรปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำต่อไปนี้
  • เข้ารับการตรวจจอประสาทตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการนัดหมายให้ตรวจตาเพิ่มถี่ขึ้นกว่าปกติ
  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติและคงที่
  • ถ้ามีโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับการรักษาและดูแลจากแพทย์ เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ
  • เคร่งครัดในการใช้ยาให้ถูกต้องตามเวลาและวิธีการใช้ที่แพทย์แนะนำ
  • ถ้ามีผลข้างเคียงของยา หรือ มีความลำบากในการใช้ยาให้ถูกต้อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนยา หรือวิธีการใช้ใหม่ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • อย่าลังเลใจที่จะปรึกษาแพทย์ หรือจักษุแพทย์ เพื่อขอรับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน หรือโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เพื่อที่จะได้ดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
จะรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างไร
มีข้อมูลจากการวิจัย พบว่า การรักษาโรคเบาหวาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปรกติอย่างเคร่งครัด (Intensive management) สามารถชะลอ และเป็นไปได้ที่จะป้องกันการเกิด หรือการดำเนินของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้
ถ้าจักษุแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว อาจจะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม โดยการฉีดสีเข้าทางเส้นเลือด และถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยวิธี Fluorescein Angiography พื่อตรวจดูความผิดปรกติของเส้นเลือดที่จอประสาทตา และใช้ประกอบการรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์ ต่อไป
การฉายแสงเลเซอร์ (Laser photocoagulation)
เป็นวิธีทั่วไปที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ลำแสงเลเซอร์จะถูกฉายลงบนจอประสาทตาโดยตรง เป็นบริเวณกว้าง และ/หรือ เฉพาะจุดที่มีเส้นเลือดผิดปรกติ ทำให้เส้นเลือดผิดปรกติหายไป และช่วยยึดจอประสาทตาติดกับชั้นผนังลูกตา ลดโอกาสการเกิดจอประสาทตาหลุดลอกได้
โดยปรกติแล้ว จักษุแพทย์จะทำการฉายแสงเลเซอร์ให้ที่คลินิคผู้ป่วยนอก โดยผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาชา เพื่อลดอาการระคายเคือง และความรู้สึกไม่สบายตาระหว่างการรักษา บางรายถ้าจำเป็นอาจได้รับการฉีดยาชาบริเวณด้านข้างลูกตา เพื่อลดอาการเจ็บปวดได้ดีขึ้น ในรายที่วิตกกังวล หรือกลัวมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยากล่อมประสาทเพิ่มเติมได้ หลังการฉายแสงเลเซอร์ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ และไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ในการรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาให้สงบลงและหยุดลุกลาม อาจต้องได้รับการฉายแสงเลเซอร์หลายครั้ง จึงจะสามารถควบคุมโรคได้ ในรายที่โรครุนแรง และมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือจอประสาทตาหลุดลอก จักษุแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy)
การผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างรุนแรง จนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือจอประสาทตาหลุดลอก จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy) เอาน้ำวุ้นตาที่มีเลือดอยู่ออก และใส่สารน้ำทดแทนไว้ในลูกตา ทำให้แสงสามารถผ่านไปที่จอประสาทตา และสามารถกลับมามองเห็นภาพใหม่ได้การรักษาแบบนี้ สามารถทำได้ทั้งแบบผู้ป่วยนอก หรือพักฟื้นหลังผ่าตัดในโรงพยาบาล 1-2 คืน อาจใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือดมยาสลบ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพทั่วไปของผู้ป่วย และความยากง่ายในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแต่ละราย จักษุแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม และได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด มีโอกาสเกิดได้เหมือนการผ่าตัดทั่วไป แม้จะมีโอกาสน้อย เช่น การติดเชื้อหลังผ่าตัด, มีเลือดออกในลูกตา, ต้อกระจก, ความดันลูกตาสูง ทำให้เป็นต้อหิน, จอประสาทตาหลุดลอก หรือแม้แต่สูญเสียการมองเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น